วางแผนภาษีธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง

ภาษีธุรกิจขายอาหารสัตว์

ภาษีธุรกิจขายอาหารสัตว์

สัตว์น้อยน่ารักอย่างน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์พิเศษอย่างกระต่าย เม่นแคระ นก หรือแม้กระทั่งงู กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งค่านิยมของคนในปัจจุบันไม่ได้มองว่าเหล่าสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน หรือเอาไว้จับหนูอีกต่อไป แต่กลับเลี้ยงด้วยความรักและความผูกพัน เหมือนลูกหรือคนในครอบครัวเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเรารักใครย่อมอยากให้สิ่งที่ดีๆ แก่คนที่เรารัก ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับข้องกับสัตว์เลี้ยงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอาหารสัตว์ ร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์เลี้ยง หรือโรงแรมแมวสำหรับรับฝากน้องหมาน้องแมว

จากความนิยมดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายคนสนใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้น วันนี้เราจึงมีข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ทั้งในเรื่องของงบประมาณการลงทุน เช่น ต้นทุนสินค้า ราคาขาย แหล่งวัตถุดิบ หรือการขอใบอนุญาต และอีกสิ่งที่สำคัญ คือ วางแผนภาษีธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ซึ่งผู้ประกอบการหลายท่านอาจไม่ได้ให้ความใส่ใจ หรือไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นผลทำให้เกิดข้อผิดพลาด จนทำให้เสียค่าปรับหรือการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้

ซึ่งการเตรียมตัวก่อนเริ่มเปิดธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงมี รวมถึงวางแผนภาษีธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง มี 4 ขั้นตอนที่จะต้องเตรียมตัวดังนี้

1. ก่อนเริ่มต้นธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงให้ปัง ต้องเช็คสิ่งนี้!

  • ควรมีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจที่ทำ

การเริ่มต้นธุรกิจผู้ประกอบการควรมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ประกอบกำลังลงทุนอย่างเพียงพอ อาจมีความชอบ หรืออยู่ในแวดวงธุรกิจดังกล่าว เพื่อให้ง่ายต่อการหาข้อมูลความรู้ แต่ถ้าหากยังไม่มีความรู้ที่เพียงพอ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมให้ละเอียด เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างราบลื่น

  • เช็คงบประมาณการลงทุน ต้นทุนสินค้า ราคาขาย และการประมาณการยอดขายเบื้องต้น เพื่อคำนวณจุดคุ้มทุน ว่าจะคืนทุนเมื่อไร เหมาะสมกับเวลาและเงินที่ลงไปหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียและความเสี่ยงอะไรบ้าง

โดยคำนวณจากค่าใช้จ่าย จะคำนวณจากรายการเบื้องต้น ดังนี้

  • ค่าเช่าสถานที่ โดยค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับทำเล ขนาด รวมทั้งยังต้องมีการจ่ายค่าประกันหรือมัดจำล่วงหน้า 1-2 เดือน ตามแต่สัญญา แต่ถ้าหากใช้บ้านหรือพื้นที่ของผู้ประกอบการเองก็จะลดต้นทุนในส่วนนี้ลงได้ ทั้งนี้ควรพิจารณาความสะดวกต่อลูกค้า ทั้งที่จอดรถ ตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงของลูกค้า
  • ค่าตกแต่งร้าน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะแตกต่างไปตามความสไตล์ความชอบ และกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ รวมทั้งขนาดของสถานที่ คุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ตกแต่ง
  • ต้นทุนของสินค้าอาหารสัตว์และอุปกรร์สัตว์เลี้ยงจะขึ้นอยู่กับซัพพลายเออร์ ปริมาณที่ต้องการ รวมทั้งการขนส่งในการจัดส่งมายังผู้ประกอบการก็ถือเป็นต้นทุนของสินค้าเช่นเดียวกัน
  • ค่าจ้างพนักงานและสวัสดิการต่างๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงาน ระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งคุณสมบัติอื่นๆ ตาม ความพึงพอใจของพนักงานและผู้ประกอบการ
  • ค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด
  • ค่าโฆษณา ค่าทำการตลาด

ในส่วนของราคาขาย ควรมีการคำนวณต้นทุนให้ดีก่อนการตั้งราคาเพื่อไม่ให้ขาดทุน ควรมีการเก็บข้อมูลราคาสินค้าชนิดเดียวกัน จากร้านในบริเวณใกล้เคียง คู่แข่งในตลาดทั้งที่เป็นร้านเพ็ทช็อป ซุปเปอร์มาเก็ต รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ เพื่อไม่ให้ตั้งราคาสูงเกินไปจนลูกค้าไม่สนใจ หรือต่ำไปจนทำให้ขาดทุน

  • เช็กคู่แข่งรอบข้าง สังเกตจุดเด่น จุดด้อย เพื่อนำมาสร้างเอกลักณ์ให้ธุรกิจของเรา

ก่อนเริ่มต้นธุรกิจธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ควรรู้ว่าคู่แข่งในบริเวณใกล้เคียงมีใครบ้าง ตัวอย่างเช่น ร้านเพ็ทช็อปเจ้าอื่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านเพ็ทช็อปขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งร้านค้าออนไลน์ ก่อนการเริ่มต้นธุรกิจควรมีการเช็คสินค้า ราคาขาย รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของร้านคู่แข่ง แล้วลิสต์ข้อดีข้อเสียของแต่ละที่ เช่น ร้าน A ขายแค่อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ร้าน B เป็นร้านเพ็ทช็อปขนาดใหญ่ ขายสินค้าเยอะ แต่ราคาแพง ร้าน C เป็นซุปเปอร์มาเก็ต มีที่จอดรถ สะดวก มีมาตรฐาน แต่ขายอาหารสัตว์เฉพาะบางยี่ห้อ ไม่มีอุปกรร์สัตว์เลี้ยง ร้าน D เป็นร้านขนาดเล็ก เน้นขายออนไลน์ ไม่มีที่จอดรถ

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง โดยเลือกยี่ห้อที่มีราคาไม่สูงมากนักหรือตั้งราคาที่ถูกกว่าร้านใหญ่ เพิ่มแบรนด์ที่ขายให้มีความหลากหลายมากกว่าซุปเปอร์มาเก็ต เช่น ขายอาหารที่เกี่ยวกับสัตว์ป่วย  มีสัตว์แพทย์ประจำร้านสัปดาห์ละ 3-4 วัน มีที่จอดรถหรืออาจมีบริการส่งสินค้าในบริเวณใกล้เคียง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า รวมทั้งอาจจะต้องมีการขายออนไลน์เสริม เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้กล้างขึ้น

  • ใส่ใจการโปรโมทและทำการตลาด

สิ่งแรกในการสร้างความจดจำแก่ผู้บริโภค คือ ชื่อแบรนด์ ควรมีชื่อที่เรียกง่าย จดจำง่ายและมีเอกลักษณ์ หลังจากนั้นก็ต้องมีเรื่องการตลาดเข้ามาเพื่อช่วยโปรโมทให้เป็นที่รู้จัก เช่น การสร้างคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ใน Facebook  ทำวิดีโอให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ลงใน Youtube หรือการใช้ซื้อโฆษณาเพื่อให้ร้านเป็นทีรู้จักมากล นอกจากนี้ยังควรมีการทำโปรโมชั่นต่างๆ ในช่วงเปิดร้านใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้า โปรโมชั่นวันสำคัญต่างๆ ให้เข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ

2. เปิดร้านขายอาหารสัตว์ควรมีการขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการที่จะเปิดร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ขั้นตอนต่อมาที่ผู้ประกอบการควรทำ คือ การขออนุญาตเปิดร้านขายอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์กับทางจังหวัด โดยเฉพาะร้านขายอาหารของอาหารสุนัขและแมว โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตจะแบ่งเป็น 2 ราคาด้วยกัน คือ

  • ขายปลีก 100 บาท
  • ขายปลีกและส่ง 300 บาท

3. วางแผนภาษีธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง

การเปิดร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงสามารถทำได้ในรูปแบบของนิติบุคคล และรูปแบบของบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาได้จากรายละเอียดดังนี้

  1. บุคคลธรรมดา

กรณีเป็นร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ขนาดเล็ก บริหารงานคนเดียว คาดว่ามีรายได้สุทธิต่อปีน้อยกว่า 750,000 บาท กรณีดังกล่าวผู้ประกอบการเหมาะที่จะดำเนินงานประเภทบุคคลธรรมดา เนื่องจากรายได้ไม่เกิน 750,000 บาท จะมีฐานภาษีอยู่ที่ 15% แต่ถ้าเกินกว่า 750,000 บาท จะมีฐานภาษีอยู่ที่ 20% ซึ่งสูงกว่านิติบุคคล SMEs

ข้อเสียคือ จะขาดความน่าเชื่อถือ หากต้องการขอยื่นกู้กับธนาคารจะยุ่งยากและมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่านิติบุคคล

  1. นิติบุคคล

สำหรับกิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีการลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน มีรายได้สุทธิต่อปีมากกว่า 1,000,000 บาท มีหลักฐานการซื้อหรือใบเสร็จรับเงิน ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการใช้หักค่าใช้จ่ายได้ ควรมีการจดบริษัทในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งจะได้ผลประโยชน์ในแง่ของบัญชีและภาษีมากกว่ารูปแบบบุคคลธรรมดา เนื่องจากฐานภาษีเงินได้สูงสุดของนิติบุคคลที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ 20% ซึ่งน้อยกว่าฐานภาษีของบุคคลธรรมดาที่มีฐานภาษีสูงสุดที่ 35% หากกิจการเกิดการขาดทุนจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี (แต่ต้องมีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าขาดทุนจริง) รวมทั้งยังได้รับความน่าเชื่อถือจากบุคคลภายนอกมากกว่า

ข้อเสียคือ อาจล้าช้าและเกิดความขัดแย้งได้ง่าย อีกทั้งยังต้องมีการจัดการเอกสาร จัดทำบัญชีตามแบบของกรมสรรพากร ทำให้ในบางกิจการต้องมีการจ้างผู้ทำบัญชี เพื่อจัดการเอกสารตรงส่วนนี้ ซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น

4. เช็คภาษีที่เกี่ยวข้อง

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงมีดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้ประกอบการที่มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.94 โดยต้องยื่นเสียภาษีในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง จัดอยู่ในประเภทที่ 8 ตามประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ประเภท คือ  หักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายครบถ้วน) และหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)
  • ภาษีเงินได้บุคคลลธรรมดาประจำภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 โดยต้องยื่นแบบรายการและเสียภาษีเงินได้ภายในนิติบุคคลภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยนำยอดภาษีที่ได้ชำระแล้วตามแบบ ภ.ง.ด. 94 มาหักออก

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ผู้ประกอบการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

  1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่รอบระยะเวลาบัญชีปีแรกและปีสุดท้ายที่มีกำหนดเวลาไม่ถึง 12 เดือน
  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดย นำภาษีที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.51 ในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมา หักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิต ภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปกติจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7
สำหรับการจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ ในขณะที่การจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จะมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เกิน 1.8 ล้าน จะต้องทำการจด VAT ภายใน 30 วัน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย

คือ การหักภาษีไว้ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงิน เมื่อมีการจ่ายเงินเกิดขึ้น ฝั่งที่รับเงินถือว่ามีรายได้ คนที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดจะต้องส่งภาษีสิ้นปี ตามแบบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีเป็นบุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด. 50 กรณีเป็นนิติบุคคล

ในธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง หากผู้ประกอบการเช่าพื้นที่เปิดร้าน ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 เพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

ในกรณีที่ที่ผู้ประกอบการมีลูกจ้าง จะต้องทำการเสียภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปที่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือโบนัส

ภาษีป้าย

หากมีการติดป้ายโฆษณา ผู้ประกอบการจะต้องมีการเสียภาษีป้ายซึ่งจะคำนวณจากประเภทของป้ายหน้าร้าน เช่น ป้ายอักษรไทยล้วน, ป้ายอักษรไทยปนต่างประเทศ, ป้ายอักษรไทยเป็นส่วนประกอบหรืออยู่ใต้อักษรต่างประเทศ หรือรูปภาพ

จากบทความทั้งหมดผู้ประกอบการที่กำลังสนใจเปิดธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง คงได้แนวทางในการพิจารณาการเปิดกิจการ และการจัดการในเรื่องภาษีแบบเบื้องต้นไปแล้วนะคะ หากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องการทำบัญชี และภาษีของธุรกิจขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง สามารถสอบถามเพิ่มได้เติมได้ที่ Chic  Accounting ได้เลยค่ะ