โลกไร้พรหมแดน คือคำที่สามารถอธิบายสภาพปัจจุบันได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้ส่งผลให้การทำธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างรวดรเร็วมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจนำเข้า – ส่งออก ดังจะเห็นได้จากธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ของประเทศอเมริกา หรือ Alibaba ของประเทศจีน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก ทำให้หลายผู้ประกอบการหลายท่านอยากเข้ามาทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องตระหนัก คือ ไม่ใช่เพียงการนำเข้าสินค้าและส่งออกเท่านั้นที่สำคัญ แต่ธุรกิจดังกล่าวยังมีภาษีที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งหากผู้ประกอบการขาดความรู้ตรงส่วนนี้ อาจทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการเกิดปัญหาในอนาคตได้ วันนี้เราจึงอยากมาแบ่งปันความรู้ในเรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า – ส่งออก ซึ่งถือเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการของธุรกิจระหว่างประเทศ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภาษีธุรกิจนำเข้าและส่งออก มีความหมายว่าอย่างไร
“นำเข้า” หมายถึง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร
“ส่งออก” จะหมายถึง การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร
ภาษีธุรกิจนำเข้าและส่งออก มีดังนี้
- การนำเข้าสินค้า
ผู้นำเข้าสินค้าอาจจะเจอกับภาษีดังต่อไปนี้
- อากรขาเข้า
การเสียภาษีอากรจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสินค้าที่ส่งเดินทางไปถึงประเทศปลายทาง แล้วสินค้ามีมูลค่าเกินหลักเกณฑ์ที่ประเทศปลายทางกำหนด โดยปกติแล้วการเสียภาษีจะเป็นความรับผิดชอบของ “ผู้รับ” เรียกว่าการเสียค่าภาษีนำเข้า โดยศุลกากรกำหนดให้ใช้ราคา CIF เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการคำนวนภาษีนำเข้า ซึ่งมีสูตรในการคำนวณหาราคา ง่าย ๆ คือ
C.I.F. = (Cost + Insurance + Freight)
- C คือ Cost หมายถึง ต้นทุน
- I คือ Insurance หมายถึง ประกันภัย ซึ่งจะมีสองทางเลือก คือ ประกันเพื่อออกของ โดยคิด 1% จาก Cost (ไม่สามารถเคลมได้) กับ ประกันเพื่อเคลมได้ (คือซื้อประกันกับบริษัทประกัน)
- F คือ Freight หมายถึง ค่าขนส่ง
อัตราภาษีที่เรียกเก็บ สามารถ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ตามสภาพ หมายถึง อัตราที่เรียกเก็บตามจำนวน ปริมาตร ปริมาณ เช่น กระบือตัวละ 500 บาท น้ำมันลิตรละ 0.50 บาท เป็นต้น
- ตามราคา หมายถึง อัตราที่รียกเก็บตามร้อยละของราคาศุลกากรเช่น รองเท้านำเข้า อัตรา 30 %ของราคา CIF ไม้ส่งออก อัตรา 10% ของราคา FOB
*ของใดที่กฎหมายกำหนดให้มีทั้งอัตราตามสภาพ และ อัตราตามราคา ให้คำนวณทั้ง 2 แบบ และให้ชำระอากรตามแบบที่คำนวณอากรได้สูงสุด สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมศุลกากร
*สามารถค้นหาอัตราอากรขาเข้าเพิ่มเติมได้ที่ พิกัดอัตราอากรขาเข้า
- ภาษีสรรพสามิต
คือ ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากผู้นำเข้าพร้อมกันกับภาษีศุลกากร ในการนำเข้าของบางประเภทที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ โดยมีอัตราในการเรียกเก็บตามแต่รัฐจะกำหนด (เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฯ) จากการนำเข้าสินค้าและบริการที่บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี สินค้าที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ เครื่องดื่ม น้ำหอม สุรา ยาสูบ ไพ่ เป็นต้น
ผู้นำเข้าจะถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต โดยใช้การคำนวณเบื้องต้น ดังนี้
- กรณีคำนวณตามมูลค่า
(C.I.F. + อากรขาเข้า + ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) x อัตราภาษีสรรพสามิต) / 1-(1.1x อัตราภาษีสรรพสามิต)
- กรณีคำนวณตามน้ำหนัก
ปริมาณ (ลิตรหรือกิโลกรัม) x อัตราภาษีสรรพสามิต
*สามารถค้นหาอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กรมสรรพสามิต
- ภาษีเพื่อมหาดไทย
คือ ภาษีที่เสียต่อเมื่อของที่นำเข้ามาต้องเสียภาษีสรรพสามิต
โดยการคำนวณจะเป็นดังนี้
ภาษีเพื่อมหาดไทย = ภาษีสรรพสามิต x อัตราภาษีเพื่อมหาดไทย (10%)
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้นำเข้าจะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อนำเข้าสินค้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (หลักการเดียวกับอากรขาเข้า) กล่าวคือเมื่อผู้นำเข้าเสียอากรขาเข้า ย่อมต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเสมอ แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปนั้นจะสามารถนำมาขอคืนเป็นภาษีซื้อได้ภายใน 6 เดือน แต่อากรขาเข้านั้นขอคืนไม่ได้ (อากรขาเข้าจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้า)ภาษีมูลค่าเพิ่มจะคำนวณได้โดย
ราคา [C.I.F + อากรขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) + ภาษีมหาดไทย (ถ้ามี)] x 7%
วิธีการคำนวณค่าภาษีนำเข้า
ถ้ามูลค่ารวมของทั้ง C, I, F เท่ากับ 10,000 บาท และอัตราอากรขาเข้าคือ 5% ก็จะคิดอัตราอากรขาเข้าได้เท่ากับ 500 บาท เมื่อส่งของไปยังประเทศปลายทางหนึ่งครั้งจะยังมีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก นั่นก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT กสมมุติว่าประเทศปลายทางมี VAT = 10% เท่ากับว่าคำนวน VAT ได้ดังต่อไปนี้
VAT = 10,500 * 10% = 1,050
มูลค่ารวมภาษีขาเข้าที่ต้องชำระ = 500 + 1,050= 1,550 บาท
- การส่งออกสินค้า
ในส่วนของการส่งออกสินค้านั้น จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้
- อากรขาออก
คือ การเสียภาษีหรือจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนนำสินค้าออกนอกประเทศ ซึ่งรวมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยกรมศุลกากรจะเป็นผู้จัดเก็บ ซึ่งแต่เดิมกรมศุลกากรกำหนดอัตราอากรไว้สำหรับสินค้า 9 ประเภท แต่ในปัจจุบันจะได้รับยกเว้นเกือบทั้งหมด เหลือแค่ หนังโค หรือหนังกระบือ และสินค้าที่ส่งออกจากพื้นที่พัฒนาร่วมตามกฎหมายองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ที่ยังคงต้องเสียอากรขาออก
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อผู้ส่งออกสินค้าเป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ส่งออกก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% ซึ่งต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว โดยมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 23 หากยื่นแบบออนไลน์)