ภาษีธุรกิจเกี่ยวกับขายอาหารสัตว์ อุปกรณ์สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ

ขายอาหารสัตว์ อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง

สำหรับผู้ที่สนใจเปิดธุรกิจเกี่ยวกับการขายอาหารสัตว์ และบรรดาอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงประเภทต่าง ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องของภาษีให้ถูกต้องเพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดข้อผิดพลาดจนนำมาซึ่งการทำผิดและมีบทลงโทษอย่างการปรับตามกฎหมายให้ต้องเสียต้นทุนในเรื่องนี้โดยใช่เหตุ ซึ่งภาษีธุรกิจเกี่ยวกับการขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ มีดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

ถือเป็นภาษีประเภทแรกในฐานะผู้มีรายได้ต้องทำการยื่นกับกรมสรรพากร โดยจะแบ่งรายละเอียดให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล หากเปิดร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงต้องเสียภาษีตามเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40 (8) สามารถยื่นได้ทั้ง ภ.ง.ด.94 (ยื่นภาษีครึ่งปี) และ ภ.ง.ด.90 (ยื่นภาษีปลายปี) แต่ถ้าเปิดกิจการและตนเองเป็นพนักงานรับเงินเดือนก็จะเปลี่ยนเป็นมาตรา 40 (1)
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากเปิดในรูปแบบนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องมีการเสียภาษีนิติบุคคลทั้ง ภ.ง.ด.51 (ภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี) และ ภ.ง.ด.50 (ภาษีสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี)

ภาษีศุลกากร

หากมีการนำเข้าสินค้าไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ เครื่องมือตกแต่งร้าน อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เจ้าของธุรกิจต้องมีการชำระภาษีศุลกากรตามพิกัดสินค้านั้นด้วย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตรงนี้ต้องขออธิบายแยกกันให้ชัดเจนเกี่ยวกับอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ถ้าเป็นอาหารสัตว์จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นหากเปิดร้านในนามบุคคลแม้จะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ก็ไม่ต้องจด VAT

แต่อีกกรณีหากมีรายได้จากการขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงตรงนี้ทั้งตอนซื้อและตอนขายต้องมีการเรียกเก็บภาษี VAT จากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงต้องออกใบกำกับภาษีให้ชัดเจนด้วย

ภาษีประเภทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากเรื่องของภาษีหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ทำธุรกิจร้านขายอาหารสัตว์ และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงแล้ว ยังมีภาษีอื่น ๆ ที่ควรรู้เอาไว้ด้วย ได้แก่

  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับธุรกิจที่มีการจ้างลูกจ้างต้องนำส่งกรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งเป็นการหักจากการจ่ายเงินเดือน โบนัส คอมมิชชั่นให้กับลูกจ้าง หรือกรณีเป็นที่เช่าก็ต้องเสียภาษีตรงนี้ด้วย
  • ภาษีป้าย ต้องมีการเสียภาษีป้ายซี่งจะแยกตามประเภทของป้ายหน้าร้าน เช่น ป้ายอักษรไทยล้วน, ป้ายอักษรไทยปนต่างประเทศ, ป้ายอักษรไทยเป็นส่วนประกอบหรืออยู่ใต้อักษรต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้คือภาษีสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจด้านการขายอาหารสัตว์ และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องรู้ จะได้ไม่ต้องผิดพลาด ทำธุรกิจคล่องตัว วางแผนต่อยอดของตนเองโดยไม่เสียเปรียบใด ๆ ทั้งสิ้น