ภาษีสำหรับธุรกิจรับทำการตลาด (Marketing Agency) ในช่วงที่ตลาดออนไลน์กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงและรู้จักสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้อย่างกว้างขว้าง นั้นก็คือ การทำการตลาด ซึ่งการทำโฆษณาในยุคนี้ไม่ได้มีเพียงการลงในทีวี หรือหนังสือพิมพ์เหมือนเมื่อก่อน แต่ยังมีช่องทางหลากหลายอย่างเช่น FACEBOOK INSTRAGRAM TIKTOK YOUTUBE การรีวิวสินค้าผ่านอินฟูเอนเซอร์ หรือสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ เพื่อให้แบรน์เป็นที่รู้จัก แน่นอนว่าเจ้าของสินค้าหรือบริษัทสามารถทำการตลาดได้ด้วยตนเอง แต่ในบางครั้งหากผู้ประกอบการยังไม่มีประสบการณ์มากนัก การจ้างผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะมาช่วยบริษัทอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า โดยในปัจจุบันมีธุรกิจรับทำการตลาด (Marketing Agency) เติบโตจนเป็นที่น่าจับตามอง จนทำให้หลายๆ คน ผันตัวเข้าสู่วงการ วันนี้เราจึงนำข้อมูลของธุรกิจรับทำการตลาด (Marketing Agency) ในแง่ของภาษีทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลมาสรุปแบบง่ายๆ เพื่อให้คนที่กำลังทำธุรกิจหรือกำลังเริ่ม สามารถนำข้อมูลไปเป็นตัวเลือกในการวางแผนธุรกิจได้
ธุรกิจรับทำการตลาด (Marketing Agency) คืออะไร
ธุรกิจรับทำการตลาด หรือ Marketing Agency เปรียบเสมือนผู้ช่วยบริษัทที่ทำหน้าที่ดูแลด้านการตลาดตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมุ่งเน้นการทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก ส่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างยอดขาย หาลูกค้า หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนช่วยเหลือฝ่ายขายของบริษัท ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไปตามความต้องการของบริษัทนั้น ๆ ว่าต้องการจ้าง Marketing Agency ไปช่วยเหลือดูแลด้านใด โดยไม่ต้องเข้าไปนั่งทำงานประจำอยู่ในองค์กร
เมื่อทำความรู้จักกับธุรกิจประเภทนี้ไปแล้ว ต่อมาเราจะมาในส่วนของภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับทำการตลาด (Marketing Agency) ที่ผู้ประกอบการควรรู้
-
ในกรณีที่ผู้รับทำการตลาด (Marketing Agency) เป็นบุคคลธรรมดา จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บกับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ โดยสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบคือ 1. หักค่าใช้จ่าย ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของกิจการและจะต้องสามารถแสดงหลักฐานพิสูจน์ค่าใช้จ่ายได้ 2.หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา
โดยการคำนวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา เงินได้สุทธิหรือเงินได้พึงประเมินคำนวณได้ ดังนี้
- เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = ภาษีที่ต้องชำระ (ไม่เกิน 150,000 บาทแรก ยกเว้น)
- เงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาท ขึ้นไป x 0.005 = ภาษีที่ต้องชำระ (ไม่เกิน 5,000 บาท ยกเว้น)
- นำ (1) และ (2) มาเปรียบเทียบกัน วิธีใด ได้ภาษีมากกว่า ให้ชำระยอดภาษีนั้น
ซึ่งผู้รับทำการตลาด (Marketing Agency) ที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องทำการยื่นภาษี 2 ครั้ง คือ
- ครั้งที่1 ภ.ง.ด.94 (ภาษีกลางปี) ยื่นภายในเดือนกันยายน โดยสามารถยื่นด้วยตัวเอง สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือยื่นออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์สรรพากร
- ครั้งที่ 2 ภ.ง.ด.90 ยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
การยื่นภาษีบุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่ของผู้รับทำการตลาด (Marketing Agency) ที่มีรายได้ ต้องยื่นเพื่อตรวจสอบภาษี แต่จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการคำนวณรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษีของแต่ละคน จะจ่ายเพิ่มมากหรือน้อยก็แล้วแต่คน ซึ่งในบางท่านอาจไม่ต้องจ่ายเพิ่มเลยก็มี
1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
คือ การเก็บภาษีจากการให้บริการในการช่วยทำการตลาดให้กับลูกค้า โดยปกติจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งผู้รับทำการตลาด (Marketing Agency) ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ถึงแม้จะเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ตาม
การยื่นจดทะเบียน
ต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน ซึ่งผู้ประกอบการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน โดยยื่นแบบภ.พ. 30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมียอดขายหรือไม่ก็ตาม
-
ในกรณีที่ผู้รับทำการตลาด (Marketing Agency) เป็นนิติบุคคล จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้รับทำการตลาด (Marketing Agency) โดยการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจะใช้รอบระยะเวลาบัญชีในการคำนวนและกำหนดเวลาในการยื่นภาษีซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้ โดยยอดภาษีจะคำนวณจาก กำไรสุทธิคูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนด โดยทำการยื่นภาษี 2 ครั้ง คือ
- ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับ แต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
- ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับ ตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีโดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบ เวลาบัญชี
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
คือ การเก็บภาษีจากการให้บริการในการช่วยทำการตลาดให้กับลูกค้า โดยปกติจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งผู้รับทำการตลาด (Marketing Agency) ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย
การยื่นจดทะเบียน
- โดยต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน ซึ่งผู้ประกอบการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน
ฐานภาษี
- คำนวนจากเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน
- ค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้ บริการนั้นในประเทศ
การคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- คำนวนจากภาษีขาย-ภาษีซื้อ (ในแต่ละเดือน ภาษี)
- กรณีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อให้ชำระ ตามส่วนต่าง แต่ถ้าภาษีซื้อมีจำนวนมากกว่า ให้มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
การยื่นแบบ
- โดยยื่นแบบภ.พ. 30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมียอดขายหรือไม่ก็ตาม
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ การหักภาษีไว้ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงิน พอมีการจ่ายเงินเกิดขึ้นแล้ว ฝั่งคนที่รับเงินถือว่ามีรายได้ โดยสามารถสรุปประเด็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในธุรกิจ Marketing Agency ได้ ดังนี้
1.กรณีจ้างฟรีแลนซ์
เมื่อ Marketing Agency จ้างฟรีแลนซ์ เช่น ค่าผลิตถ่ายทำ ตัดต่อ คลิปสื่อโฆษณา ค่าออกแบบรูปภาพในการประกาศลงสื่อ ถือว่าเป็นค่าบริการ จะต้องหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ส่งให้สรรพากรในเดือนถัดไป
2.กรณีที่ Marketing Agency เป็นตัวกลางในการจัดเก็บค่าสื่อลูกค้า
กรณีที่ลูกค้ามาจ้างให้ Marketing Agency เป็นตัวกลางในการสร้างสื่อต่าง ๆ Marketing Agency จะเป็นผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ตอนนำเงินไปจ่ายให้กับสื่อนั้น ๆ อีกที โดยมีเงื่อนไขว่าสื่อนั้นจะต้องที่มีที่ไปที่มาชัดเจน และสามารถสอบยันยอดได้ตรงกันกับสื่อต้นทางได้
ข้อแนะนำ : ควรแยกค่าโฆษณาและค่าสื่อในการทำการตลาด ที่เรียกเก็บจากลูกค้า ออกจาก Agency Fee เพื่อจะได้ถูกหัก ณ ที่จ่ายเฉพาะค่า Agency Fee หรือค่าบริการในการทำการตลาด ซึ่งเป็นรายได้จริง ที่กิจการได้รับจากลูกค้า เพื่อที่จะได้ไม่สูญเสียกระแสเงินสดไปกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ธุรกิจ Marketing Agency เป็นธุรกิจที่น่าสนใจและกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก นักการตลาดเก่ง ๆ มักสร้างคอนเทนต์ที่ดี และมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่อย่าลืมว่าการทำธุรกิจไม่ได้มีเพียงการหาลูกค้าและสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น แต่เรื่องภาษีและการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจควรจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจอยู่บนรากฐานที่มั่นคง จึงต้องมีตัวช่วยดี ๆ อย่าง CHIC ACCOUNTING ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี ที่พร้อมให้คำแนะนำ วางรากฐานทางการเงินและภาษีที่มั่นคง เราพร้อมให้บริการ ด้วยความเป็นมืออาชีพ และบริการที่ประทับใจ
ที่มา https://www.cotactic.com/blog/the-investment-in-digital-marketing-agency/