ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของรายได้นักแสดงสาธารณะ
ข้อ 9 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ได้กำหนดให้บุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น นักแสดงสาธารณะ มีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายดังนี้
(ก) กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เว้นแต่นักแสดงสาธารณะที่เป็น นักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำ ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในประเทศไทยโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าด้วยการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2544 หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0
(ข) กรณีนอกจาก (ก) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0
คำว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุและโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพหรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ”
และตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ของนักแสดงสาธารณะ ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ และคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง
คำว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม เช่น นักแสดงละครเวที นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นักแสดงตลก นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์คโชว์ นักมวยอาชีพ นักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้น
นักแสดงสาธารณะ ดังกล่าว ไม่รวมถึงผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการในสถานบันเทิงใด ๆ ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงสาธารณะ ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการทีมกีฬา ผู้ฝึกสอน นักกีฬาหรือบุคคลผู้กระทำการในลักษณะทำนองเดียวกัน
สำหรับกรณีเงินได้จากการเป็นพิธีกรในการเปิดตัวสินค้าใหม่จากบริษัทห้างร้านต่างๆ ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ แต่เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ซึ่งเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้วางทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในการตรวจและแนะนำผู้มีเงินได้ซึ่งเป็น “นักแสดงสาธารณะ” ไว้ในข้อหารือภาษีอากร
อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของนักแสดงสาธารณะ
- คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% ของเงินได้ กรณีผู้จ่ายเงินได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จ่ายเงินให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นนักแสดงสาธารณะที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
- คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของเงินได้ กรณีผู้จ่ายเงินได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จ่ายเงินให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการในสถานบันเทิงใด ๆ ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
การคำนวณและยื่นแบบภาษีของนักแสดงสาธารณะ
กรณีถูกหักภาษีเงินได้ในอัตรา 5% จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กำหมายกำหนดให้เลือกหักค่าใช้ตามตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอม ให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ดังนี้
- หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือ
- หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังนี้
- สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60
- สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40 การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท
- กรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ ให้ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้ จ่ายตามเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น
กรณียกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
กรณีเป็นนักแสดงสาธารณะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง เฉพาะเงินได้ในส่วนที่เป็นค่าแสดงของนักแสดงสาธารณะ ตามมาตรา 40 (8) ( ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ทีจ่ายในอัตรา 5% ) ไม่ได้หมายรวมถึงว่าเป็นนักแสดง แล้วมีการรับงานที่เป็นงานจ้างที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งถ้ามีรายได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย 3% แล้วเกิน 1.8 ล้านต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี