ภาษี Youtuber และบรรดา Influencer เรื่องที่คนดังออนไลน์ต้องรู้

youtuber Influencer

ในยุคนี้อาชีพมาแรงแซงทางโค้งและได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่สุด ๆ ต้องยกให้กับการเป็น Youtuber พอเริ่มมีชื่อเสียงมากเข้าก็จะกลายเป็น Influencer หรือคนดังบนโลกออนไลน์ หยิบจับอะไรก็มีเงินมีทองคล่องมือ แถมยังมีชื่อเสียง ต่อยอดสู่การสร้างรายได้ก้อนโตในอนาคตได้อีก แต่รู้หรือไม่อาชีพที่เด็กยุคใหม่ใฝ่ฝันก็มีเรื่องของภาษีเงินได้เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ต่างจากอาชีพพนักงานออฟฟิศหรืออาชีพอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

การจ่ายภาษีคือหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคน

สิ่งแรกที่อยากให้ทุกคนท่องจำเอาไว้ตลอดคือ การจ่ายภาษีเงินได้ถือเป็น “หน้าที่” ของพลเมืองไทยทุกคน เมื่อมีรายได้จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วดำเนินการตามขั้นตอนจนท้ายที่สุดสรุปออกมาว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ มีการคืนภาษีหรือไม่ หรือได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

YouTuber หรือ Influencer มีรายได้จากไหนบ้าง

สำหรับใครที่อยากทำงานเกี่ยวกับ YouTuber หรือ Influencer ต้องรู้ด้วยว่ารายได้ของตนเองจะมาจากช่องทางไหนบ้าง ซึ่งหลัก ๆ แล้วแบ่งออกดังนี้

  • รายได้จากจำนวนคนเข้าชมคลิป, ส่วนแบ่งค่าโฆษณาเมื่อมีการนำเอาโฆษณามาใส่ไว้ในช่อง YouTube ของตนเอง หรือการทำระบบ Member
  • รายได้จากการรีวิวสินค้า / บริการต่าง ๆ
  • รายได้จากการโชว์ตัวงานอีเวนท์
  • รายได้จากการขายสินค้า / บริการของตนเอง หรือสิ่งของซื้อมาขายไปต่าง ๆ

ภาษี YouTuber หรือ Influencer เข้าเกณฑ์รายได้พึงประเมินแบบไหน

มาถึงสิ่งที่คนอยากทำอาชีพ YouTuber หรือ Influencer ต้องเข้าใจให้มากที่สุดนั่นคือเรื่องราวเกี่ยวกับภาษี YouTuber ตามที่บอกไปว่าเมื่อมีรายได้ก็ต้องเข้าสู่รูปแบบการยื่นภาษี ซึ่งรายได้พึงประเมินจะแบ่งออกเป็น 8 ประเภท คำถามคือ รายได้ของ YouTuber หรือ Influencer จัดอยู่ในประเภทไหนบ้าง?

แม้นี่ยังไม่ถูกจัดตามกฎหมายเอาไว้ชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มอาชีพประเภทไหน แต่สามารถสรุปแบบเข้าใจง่ายในการประเมินรายได้เพื่อยื่นเสียภาษี ดังนี้

  • รายได้จากช่อง YouTube ของตนเองไม่ว่าจะเป็นจากยอดรับชม ส่วนแบ่งค่าโฆษณาของช่อง จะจัดอยู่ในรายได้พึงประเมินประเภท 8
  • รายได้จากการรับสปอนเซอร์ รีวิวสินค้า / บริการ สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าเกณฑ์รายได้พึงประเมินประเภท 2 หรือ ประเภท 8 (กรณีถ้ารายได้มีการลงทุนเยอะ เช่น การเดินทาง, จ้างคน, ค่าอุปกรณ์ มักเลือกประเภท 8 หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง)
  • รายได้จากการรับงานโชว์ตัว อีเวนท์ต่าง ๆ จัดเป็นรายได้พึงประเมินประเภท 2 แต่ถ้ารับงานด้านการแสดง ดารา นักร้อง จะเป็นรายได้ประเภท 8 ทันที
  • รายได้จากการขายสินค้า ซื้อมาขายไป ไม่ได้ผลิตเอง จะเป็นรายได้พึงประเมินประเภท 8

เมื่อรู้ประเภทรายได้ของการเป็น YouTuber หรือ Influencer เรียบร้อยแล้ว พอครบปีประเมินภาษี ก็ต้องนำเอารายได้ดังกล่าวไปคำนวณตามรูปแบบที่ทางกรมสรรพากรกำหนดเอาไว้ แล้วถ้าหากมีภาษีต้องชำระก็ให้ดำเนินการจ่ายภายในเวลาที่กำหนด จะได้ไม่ต้องโดนค่าปรับย้อนหลังด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสรรพากร