การกรอกแบบ ยื่นภาษี กำไรจากคริปโต
ตามกระแสข่าวที่ออกมามีความชัดเจนมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีรายได้จากการซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัล หรือการเทรดคริปโตเคอเรนซี่ จะต้องมีการเสียภาษีเพราะถือเป็นรายได้อีกประเภทหนึ่ง จึงอยากพาทุกคนมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้และสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการกรอกแบบเมื่อต้องดำเนินการยื่นภาษี ลดการเกิดข้อผิดพลาดของการยื่นภาษีและกลายเป็นความยุ่งยากภายหลัง
การเสียภาษีคริปโตมีกี่รูปแบบ
ก่อนจะไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกรอกแบบเพื่อยื่นภาษีเมื่อคุณได้กำไรจากการเทรดคริปโต ขออธิบายเพิ่มเติมในเรื่องของภาษีสกุลเงินดิจิทัลอีกเล็กน้อย ปกติแล้วผู้ที่ลงทุนกับเหรียญคริปโตแล้วได้กำไรไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามจะต้องมีการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของผลกำไรทั้งหมด เช่น คุณทำกำไรได้ 10,000 บาท จะมีการหักเอาไว้ 1,500 บาท ส่วนเงินอีก 8,500 บาท จะเป็นของผู้ลงทุน
ส่วนการเสียภาษีอีกประเภทจะเป็นในรูปแบบของการนำเอารายได้จากการเทรดสกุลเงินดิจิทัลมารวมอยู่ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเงินได้ส่วนนี้จะถูกจัดอยู่ในหมวดเงินได้ตามมาตรา 40 (4) หมายถึง การมีดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ รวมถึงประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากคริปโตเคอเรนซี่ หรือโทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน
การกรอกแบบ ยื่นภาษี เมื่อได้กำไรจากคริปโต
จริงแล้วการยื่นภาษีเมื่อได้กำไรจากเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ก็ไม่ต่างจากการยื่นภาษีทั่วไป โดยขอแนะนำวิธียื่นออนไลน์ ดำเนินการกรอกแบบ ยื่นภาษี ได้ดังนี้
- กดเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ สำหรับคนที่เคยยื่นอยู่แล้วสามารถเข้าสู่ระบบได้เลย ส่วนใครที่พึ่งเคยยื่นออนไลน์ครั้งแรกก็ทำการสมัครตามวิธีที่กำหนด
- เมื่อเข้าสู่หน้าการกรอกรายได้ ให้เพิ่มจำนวนเงินไปในช่องที่ระบุหัวข้อ รายได้จากการลงทุน เลือกข้อแรกที่ระบุเกี่ยวกับเงินได้จากคริปโตเคอเรนซี่ หรือโทเคนดิจิทัล มาตรา 40 (4)
- คลิกเข้าไปยัง “ระบุข้อมูล” จะแบ่งรายการต่าง ๆ ให้ผู้ยื่นภาษีกรอกตามที่ระบุเอาไว้ เช่น ประเภทธุรกิจ (ประเภทเงินได้), เงินได้ทั้งหมด, จำนวนภาษีหัก ณ ที่จ่าย, เลขที่ผู้จ่ายเงินได้ เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นการกรอกแบบยื่นภาษีเมื่อได้กำไรจากคริปโตแล้ว สามารถดำเนินการตามขั้นตอนอื่น ๆ ต่อได้เลย
สำหรับคนที่เป็นนักลงทุนบนโลกสินทรัพย์ดิจิทัลคงต้องคอยติดตามการอัปเดตเกี่ยวกับเงื่อนไขในการเสียภาษี รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ให้ดี เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการทำผิดพลาด และนำมาซึ่งความยุ่งยากในด้านภาษีภายหลัง