เมื่อพนักงานต้องออกจากงาน ซึ่งอาจเกิดจากบริษัทเปิดโครงการให้พนักงานได้ลาออก บริษัทปิดตัวหรือบริษัทไล่ออก นอกจากพนักงานจะได้ค่าชดเชยจากบริษัทแล้ว ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากกรณีว่างงานจากประกันสังคมอีกด้วย นอกจากกรณีที่กล่าวมา การลาออกด้วยตนเอง หรือการที่หมดสัญญาจ้างงานก็สามารถที่จะขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ ซึ่งเงื่อนไขและรายละเอียดมีดังนี้
เราต้องมาดูกันก่อนว่าผู้ที่จะขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน มีเงื่อนไขอย่างไร
- ต้องเป็นผู้จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
- มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
- ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลาโดยไม่มีความผิดตามกฎหมา
โดยสามารถแบ่งการรับสิทธิประโยชน์จากเงินทดแทนกรณีว่างงาน เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. กรณีถูกเลิกจ้าง
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
2.กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
3. กรณีถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างมากกว่า 1 ครั้งต่อปี
หากใน 1 ปี ถูกเลิกจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
วิธีการขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน
- ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน
- ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
- เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้
- ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
- ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
วิธีขอรับเงินทดแทนสำหรับคนไทย โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
- ลงทะเบียนขอใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล / Digital ID ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร.
- ผู้ประกันตนสามารถเข้าสู่ระบบ (Login) โดยใช้ User / Password ที่ลงทะเบียน Digital ID ในการขึ้นทะเบียนว่างงาน
- กรอกข้อมูลรายละเอียดตามระบบและแนบไฟล์บัญชีธนาคารที่จะให้โอนเงินเข้าบัญชีในระบบ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นเอกสารใด ๆ กับสำนักงานประกันสังคมอีก
- ภาพถ่ายสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึงมีชื่อและเลขที่บัญชีของตนเองที่จะยื่นในระบบ
- รายงานตัวตามกำหนด
วิธีขอรับเงินทดแทนสำหรับสำหรับต่างชาติ/ต่างด้าว (ไม่สามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้)
- ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09) (ถ้ามี)
- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- กรณีว่างงานจากสาเหตุสุดวิสัยแนบหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากสาเหตุสุดวิสัย
- สำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ-สกุล
- สำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือเดินทาง ( Passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้
- หากเอกสารสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย และรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี
- รายงานตัวตามกำหนดนัด ณ สำนักงานจัดหางานพื้นที่ที่สะดวก
หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยกรณีเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 11 ธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สถานที่ยื่นเรื่อง
1. ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
(เว็บไซต์ www.empui.doc.go.th) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และรายงานตัวตามกำหนดนัด เพื่อมิให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน
2. ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคม
กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น.
หมายเหตุ : ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 2 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน