ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักลงทุนให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุน ด้วยข้อได้เปรียบในหลายด้านที่มีความเหมาะสม ทั้งเป็นจุดศูนย์กลางด้านการคมนาคม สามารถขนส่งหรือเดินทางได้อย่างสะดวก ประกอบกับแรงงานที่มีฝีมือ และผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้กับนักลงทุนที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศไทย ทางรัฐบาลจึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขึ้นมา
BOI คืออะไร?
BOI (Board of Investment) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน้าที่ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยลดความเสี่ยง ลดภาระค่าใช้จ่ายเริ่มต้นและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ช่วยให้คำปรึกษาและบริการในการลงทุน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย กระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับนักลงทุนที่สนใจให้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตและส่งออก
ประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุนแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้
- หมวด 1 เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช การปลูกไม้เศรษฐกิจ หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- หมวด 2 แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน เช่นการทำเหมืองแร่ ผลิตภัณฑ์แก้ว การผลิตเหล็กทางต่าง ๆ
- หมวด 3 อุตสาหกรรมเบา เช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผลิตกระเป๋าหรือรองเท้า การผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน
- หมวด 4 ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เช่นการผลิตเครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานพาหนะ
- หมวด 5 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่นการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
- หมวด 6 เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เช่น การผลิตพลาสติก การผลิตสิ่งพิมพ์ การผลิตยา
- หมวด 7 กิจการบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการขนส่งมวลชน กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
- หมวดที่ 8 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น กิจการพัฒนา Biotechnology, Nanotechnology, Advanced Material Technology, Digital Technology
สิทธิประโยชน์ของ BOI ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆได้แก่
สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร
- ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
- ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก
- ยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
- หักค่าใช้จ่ายในส่วนของก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก นอกเหนือจากหักค่าเสื่อมราคา
- ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร
- อนุญาตให้คนต่างชาติทำงานในไทยได้
- อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้น 100%
- อนุญาตให้คนต่างชาติ คู่สมรส หรือลูก เข้ามาในไทยได้
- อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- ชาวต่างชาติสามารถส่งเงินหรือโอนเงินไปต่างประเทศได้
ขั้นตอนการขอรับส่งเสริมการลงทุน
- สำนักงานจะพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของสำนักงาน โดยมีหลักพิจารณา ดังนี้
- ลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท พิจารณาภายใน 40 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ
- ลงทุนไม่เกิน 2,000 ล้านบท พิจารณาภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ
- ลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาท พิจารณาภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ
- เอกสารและหลักฐานที่ผู้ขอจะต้องยื่นเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
2.1 แบบคำขอรับการส่งเสริมที่มีข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วน จำนวน 2 ชุด แล้วแต่กรณี ดังนี้
- คำขอรับการส่งเสริมทั่วไป (F PA PP 01)
- คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนบริการ (F PA PP 03)
- คำขอรับการส่งเสริมสำหรับกิจการซอฟต์แวร์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (F PA PP 04)
- คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (F PA PP 29)
2.2 สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนไม่รวมที่ดินและทุนหมุนเวียนมากกว่า 750 ล้านบาท จะต้องแนบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ด้วย
2.3 ข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมสำหรับกิจการแต่ละประเภท ซึ่งสำนักงานจะแจ้งให้ทราบเป็นกรณีไป
การตอบรับมติการให้ส่งเสริมการลงทุน
- ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องยื่นแบบตอบรับมติ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติ
- กรณีผู้ขอรับส่งเสริมไม่สามารถส่งแบบตอบรับมติได้ภายในกำหนดเวลาในข้อ 1 ผู้ขอฯ สามารถยื่นแบบขยายเวลาตอบรับมติ ได้ 3 ครั้ง
- ผู้ขอรับการส่งเสริมสามารถยื่นแบบตอบรับมติหรือแบบขยายเวลาตอบรับมติการให้การส่งเสริม หรือขอทราบรายละเอียด เพิ่มเติม ได้ที่กลุ่มบัตรส่งเสริม สำนักงานเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
สรุปขั้นตอนการขอรับส่งเสริมการลงทุนแบบง่าย ๆ
หลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
- การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
- ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ ยกเว้นกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนและกิจการตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้
- ต้องมีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย
- ต้องใช้เครื่องจักรใหม่ กรณีการใช้เครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
- เครื่องจักรใช้แล้วที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร
- สำหรับเครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า ที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ได้แก่ เครื่องปั๊มเท่านั้น
- สำหรับกิจการขนส่งทางเรือ กิจการขนส่งทางอากาศ และแม่พิมพ์ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 10 ปีในโครงการได้ตามความเหมาะสม โดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
- การป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- ต้องมีแนวทางและมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
- กรณีกิจการใดที่มีรายละเอียดโครงการ หรือกิจกรรมต่อเนื่อง ที่อยู่ในข่ายตามประเภทและขนาดโครงการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม หรือตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ ด้วย
- โครงการที่ตั้งในจังหวัดระยอง ต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ป.1/2554 เรื่อง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยอง ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
- เงินลงทุนขั้นต่ำและความเป็นไปได้ของโครงการ
- ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนท้ายประกาศ
- สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจ ให้พิจารณาเงินลงทุนขั้นต่ำจากเงินเดือนบุคลากรต่อปี ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน
- ต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ต่อ 1 สำหรับโครงการริเริ่ม ส่วนโครงการขยายจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี
- โครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 750 ล้านบาท ต้องเสนอรายละเอียดรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนด
สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจจะนำบริษัทเข้าขอรับการส่งเสริม BOI สามารถนำข้อมูลที่พวกเรานำเสนอไป มาใช้ในการพิจารณาในการสมัครขอรับการส่งเสริมได้เลยค่ะ หรือหากมีข้อสงสัย หรือต้องการใช้บริการจากเรา สามารถติดต่อเราได้ ตามลิงค์ นี้ ทางเรายินดีให้บริการค่ะ