ไขข้อข้องใจ ! จะทำอย่างไร ถ้าบริษัทต้องการแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน

จ้างชาวต่างชาติ

ในบทความที่แล้วเราได้นำเสนอการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ของต่างชาติที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยกันไปแล้วนะคะ บทความนี้เราจะมานำเสนอวิธีการที่บริษัท องค์กร หรือ สถานประกอบการเป็นผู้ขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้แก่ต่างชาติ ซึ่งบริษัทจะต้องเข้าเกณฑ์อะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไร เอกสารมีอะไรบ้าง ยื่นที่ไหน มาดูสรุปแบบง่าย ๆ กันได้เลยค่ะ

ก่อนจะมาดูขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในองค์กรของผู้ประกอบการ เราต้องมาดูกันก่อนว่าเราสามารถจัดหาพนักงานช่างชาติได้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง

สำหรับการจัดหาชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในองค์กร สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. ผู้ประกอบการให้ผู้รับอนุญาตในการจัดหาแรงงานต่างชาติเป็นผู้จัดหาให้

ในส่วนของการหาพนักงานด้วยบริษัทจัดหาพนักงานต่างชาติ สามารถเลือกบริษัทที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในเรื่องเอกสารได้

  1. ผู้ประกอบการเป็นผู้จัดหาชาวต่างชาติเข้ามาทำงานด้วยตนเอง

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจัดหาพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติด้วยตนเอง บริษัท สถานประกอบการ หรือองค์กรจะต้องอยู่ในเกณฑ์การขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ก่อน จึงจะสามารถจัดหาพนักงานต่างชาติได้

ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ประกอบการที่มีขนาดการลงทุนจากทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทหรือจดทะเบียนนิติบุคคลในต่างประเทศนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท สามารถออกใบอนุญาตทำงานให้ 1 คน และให้เพิ่มขึ้นหนึ่งคนต่อขนาดการลงทุนทุก 2 หรือ 3 ล้านบาท
  2. หลักเกณฑ์พิจารณาตามประเภทของสถานประกอบการ
  • ดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศและนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศไม่น้อยกว่าสามสิบล้านบาทขึ้นไปในปีที่ผ่านมา
  • ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งนำชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไม่น้อยกว่าห้าพันคนในรอบปีที่ผ่านมา
  • สถานประกอบการมีการจ้างงานคนไทยไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน
  • เป็นงานที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งคนไทยทำไม่ได้หรือใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะทางเพื่อให้งานสำเร็จภายใต้โครงการที่มีระยะเวลาแน่นอน
  • สถานประกอบการชำระภาษีเงินได้ให้แก่รัฐในรอบปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
  • หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน หรือคนต่างด้าวตามที่มีหนังสือรับรองจากหน่วยงานดังกล่าว
  • สถาบันการศึกษาของเอกชน ซึ่งมีหนังสือแต่งตั้งให้เป็นครู/ผู้สอน/บุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
  • มูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม
  • กิจการบันเทิง มหรสพ ดนตรี ซึ่งมีลักษณะการจ้างงานเป็นครั้งคราวมีระยะเวลากำหนดไว้แน่นอน
  1. นอกจากบริษัท องค์กร สถานประกอบการจะต้องเข้าเงื่อนไขแล้ว พนักงานต่างชาติที่ต้องการให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จะต้องไม่มีลักษณะดังนี้
    1. เป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
    2. เป็นผู้ป่วย โรคต่าง ๆ เช่น โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างระยะปรากฏ
    3. มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต
    4. เคยได้รับโทษจำคุกโดย คำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกภายใน ระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันขอรับ ใบอนุญาต

ขั้นตอนการดำเนินการในการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) สำหรับแรงงานต่างชาติระดับฝีมือชำนาญการ

กรณีที่ชาวต่างชาติยังไม่ได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทย

  1. หากยังไม่มีวีซ่า NON – IMMIGRANT – B ผู้ประกอบการจะเป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (ตท.3) ที่สำนักงานจัดหางาน
  2. เมื่อผู้ประกอบการได้รับหนังสือแจ้งการพิจารณาอนุญาตทำงานแล้ว ให้ถ่ายสำเนาหนังสือแจ้งการพิจารณาอนุญาตทำงานเก็บไว้
  3. จากนั้นผู้ประกอบการจะต้องส่งหนังสือให้กับลูกจ้างต่างชาติที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอวีซ่าทำงาน (Non-B Visa) ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศกรุงเทพ ให้ติดต่อสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมจัดหางาน
  4. พนักงานต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยแล้ว ผู้ประกอบการต้องติดต่อสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวหรือสำนักงานจัดหางานเพื่อยื่นแสดงความจำนงค์ทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) (ตท.1) ซึ่งมีอายุ 1 ปี ที่กรมการจัดหางาน ภายใน 30 โดยมีเอกสารดังนี้
    • สำเนาหนังสือเดินทางที่แสดงตราประทับให้อยู่ในราชอาณาจักรประเภทคนอยู่ชั่วคราว
    • หนังสือแจ้งพิจารณาอนุญาตให้เข้ามาทำงานได้ (ต้นฉบับ)
    • ใบรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพ
  5. เมื่อได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ซึ่งมีอายุ 1 ปี จึงจะสามารถเริ่มทำงานในประเทศไทยได้ แล้วจึงไปยื่นต่ออายุ วีซ่า NON – IMMIGRANT – B 3 เดือน เป็น 1 ปี ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใน 30 วัน

คำแนะนำ : ก่อนที่พนักงานชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ผู้ประกอบการจะต้องมีการเตรียมเอกสารทั้งในส่วนของพนักงาน และส่วนของสถานประกอบการ เพื่อยื่น ณ สำนักงานของกรมจัดหางาน

กรณีที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยแล้ว

  1. หากยังไม่มีวีซ่า NON – IMMIGRANT – B จะต้องทำการยื่นขอจากสถานกงสุลไทย ณ ประเทศนั้น ๆ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะมีอายุ 90 วัน โดยทำการขอที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
  2. เมื่อได้รับวีซ่า NON – IMMIGRANT – B แล้ว ผู้ประกอบการต้องติดต่อสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวหรือสำนักงานจัดหางานเพื่อยื่นแสดงความจำนงค์ทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) (ตท.1) ซึ่งมีอายุ 1 ปี ที่กรมการจัดหางาน
  3. เมื่อได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ซึ่งมีอายุ 1 ปี จึงจะสามารถเริ่มทำงานในประเทศไทยได้ แล้วจึงไปยื่นต่ออายุ วีซ่า NON – IMMIGRANT – B 3เดือน เป็น 1 ปี ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใน 30 วัน

 

เอกสารสำคัญสำหรับการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานที่ผู้ประกอบการต้องยื่นให้พนักงานต่างชาติ

เอกสารพนักงานต่างชาติ :

  • กรอกแบบคำขอ ตท.3
  • สำเนาหนังสือเดินทาง (หน้าที่มีรูปถ่ายและชื่อคนต่างชาติ)
  • แบบหนังสือรับรองการจ้าง
  • แบบหนังสือรับรองวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน พร้อมเอกสารแนบ
    • สำเนาหลักฐานการศึกษา
    • สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในกรณีที่เป็นการประกอบวิชาชีพที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ครู
  • หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้างติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของนายจ้างและผู้รับมอบอำนาจ

เอกสารผู้ประกอบการ ซึ่งจะพิจารณาตามประเภทของกิจการ / ผู้ประกอบการ

  • กรณีสถานประกอบการเอกชน
    • สำเนา หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลไทย และสำเนา บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ไม่เกิน 6 เดือน) หรือ สำเนา ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พร้อมสำเนา หลักฐานการนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (สำหรับนิติบุคคลต่างด้าว)
    • สำเนา ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 ที่ระบุประเภทกิจการ และคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.09 (ถ้ามี)
    • สำเนา หลักฐานกรณีนายจ้างประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายอื่น หรือหนังสืออนุญาตให้ดำเนินกิจการของหน่วยงานรัฐ เช่น หนังสืออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หนังสืออนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เป็นต้น
    • แสดงหลักฐานการจ่ายเงินประกันสังคม (1 เดือน) สำเนางบการเงิน (ปีล่าสุด) และภ.พ.30 (1-3 เดือน)

 

  • กรณีโรงเรียนเอกชน / มหาวิทยาลัยเอกชน
    • สำเนาหนังสือแต่งตั้งครู หรือผู้สอนปฏิบัติหน้าที่ พร้อมสัญญาจ้าง / มหาวิทยาลัยเอกชน ให้แสดงหนังสือรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระบุชื่อคนต่างด้าว ตำแหน่ง และระยะเวลาจ้างงาน
    • สำเนาใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน / สำเนาหนังสือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยและคำสั่งแต่งตั้งผู้มีอำนาจลงนามของมหาวิทยาลัย

 

  • กรณีหน่วยงานราชการ
    • หนังสือรับรองจากส่วนราชการ / รัฐวิสาหกิจ / องค์การมหาชน / เขตการศึกษา-ครูโรงเรียนรัฐบาล ระบุชื่อ ตำแหน่ง ระยะเวลาจ้างงาน

 

  • กรณีมูลนิธิ หรือสมาคม
    • หนังสือรับรองนิติบุคคลของมูลนิธิ สมาคม ระบุวัตถุประสงค์ พร้อมบัญชีรายชื่อคณะกรรมการ

 

  • กรณีกิจการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ
    • หนังสือรับรองจากกรมการท่องเที่ยว ระบุรายชื่อ ตำแหน่ง เลขที่หนังสือเดินทางและระยะเวลาการทำงานของคนต่างด้าว พร้อมใบอนุญาตเป็นผู้ประสานงาน
    • สำเนา หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนา บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ไม่เกิน 6 เดือน)

เมื่อพนักงานต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยแล้ว ผู้ประกอบการติดต่อสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวหรือสำนักงานจัดหางานเพื่อยื่นแสดงความจำนงค์ทำใบอนุญาตทำงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอนุญาตให้เข้ามาทำงาน

เอกสารประกอบการยื่นแสดงความจำนงค์ทำใบอนุญาตทำงาน

  • สำเนา หนังสือเดินทาง และหน้าวีซ่า Non-B ของลูกจ้างต่างชาติ พร้อมฉบับจริง
  • รูปถ่าย ขนาด 3×4 ซม. จำนวน 3 รูป (ไม่เกิน 6 เดือน)
  • สำเนา หนังสือแจ้งผลการพิจารณาอนุญาตให้เข้ามาทำงานได้ 1 ฉบับ
  • ใบรับรองแพทย์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎกระทรวงกำหนด (ไม่เกิน 6 เดือน)
  • หนังสือมอบอำนาจ จากคนต่างด้าวติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจคนไทย (กรณีที่ลูกจ้างต่างด้าวไม่มายื่นด้วยตนเอง)
  • เอกสารอื่น ๆ ให้ตรวจสอบจากหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอนุญาตให้เข้ามาทำงานว่าต้องการเอกสารอื่นเพิ่มอีกหรือ

 

สถานที่ติดต่อยื่นคำขอให้ดำเนินการ ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานของผู้ยื่นคำขอ ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร ติดต่อสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ชั้น 2 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร 1040
  • ในส่วนภูมิภาค/ต่างจังหวัด ติดต่อ สำนักงานจัดหางานจังหวัดตามที่สถานประกอบการตั้งอยู่

 

จะเห็นได้ว่าการที่องค์กร บริษัท หรือ สถานประกอบการจะยื่นขออนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในองค์กร โดยเฉพาะประเภทแรงงานต่างชาติระดับฝีมือชำนาญการ  ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องดำเนินตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและเตรียมเอกสารให้แก่พนักงานต่างชาติให้เรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งหากผู้อ่านมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลต่าง ๆ สามารถทักมาสอบถามเราได้ค่ะ ทางเรายินดีให้บริการ

 

ที่มา : One Start One Stop Investment Center (OSOS)