หนึ่งในหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคน คือการทำหน้าที่เสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อมีรายได้เข้าเกณฑ์พึ่งประเมิน ซึ่งรูปแบบการเสียภาษีนั้นก็มีหลายประเภท โดยแบบของการยื่นภาษีมักใช้คำว่า “ภ.ง.ด.” เป็นหลัก บทความนี้จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับการยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54 กันให้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม
ความหมายและการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 1
แบบ ภ.ง.ด. 1 หมายถึง แบบแสดงรายการเงินที่ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ซึ่งนิติบุคคลได้ทำการหักภาษีในการจ่ายเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40 (1) และ (2) อาทิ เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส และเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ให้แก่พนักงาน ลูกน้อง ลูกจ้าง (ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์เสียภาษีบุคคลธรรมดาเท่านั้น) ในแต่ละเดือนนั่นเอง
โดยนิติบุคคลต้องทำการยื่น แบบ ภ.ง.ด. 1 แก่สรรพากรทุกเดือน ไม่เกินวันที่ 7 นับจากวันสุดท้ายของเดือน หากยื่นด้วยตัวเองที่เขตสรรพกรตามตำแหน่งที่ตั้งของบริษัท และยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ไม่เกิน 15 วันนับจากวันสุดท้ายของเดือนของทุกเดือนหากทำการยื่นแบบผ่านออนไลน์
ความหมายและการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3
แบบ ภ.ง.ด. 3 หมายถึง แบบยื่นแจ้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ระหว่างนิติบุคคลที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินกับบุคคลธรรมดา โดยผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากค่าจ้างกับลูกจ้างนอกบริษัท (ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ) และดำเนินการนำส่งสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป และไม่เกิน 15 วันนับจากวันสุดท้ายของเดือนของทุกเดือนหากทำการยื่นแบบออนไลน์
ความหมายและการยื่นแบบ ภ.ง.ด.53
แบบ ภ.ง.ด. 53 หมายถึง แบบยื่นแจ้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ระหว่างนิติบุคคลทำธุรกรรมกับนิติบุคคลด้วยกัน โดยต้องส่งเอกสาร แบบ ภ.ง.ด. 53 กับกรมสรรพากรทุกเดือน ไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หากเดือนไหนไม่มีการหักเลยก็ไม่ต้องส่ง
ความหมายและการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54
แบบ ภ.ง.ด. 54 หมายถึง แบบยื่นแจ้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของนิติบุคคลที่ตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่ได้ประกอบกิจการธุรกิจในไทย แต่มีการรับรายได้พึงประเมินมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ซึ่งจ่ายในประเทศไทย โดยผู้หักภาษีทำการหักจากเงินได้ที่จ่ายออกไป แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
- การหักภาษีเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40 (2) – (6) จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 %
- การหักภาษีเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40 (4) (ข) จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 10 %
จากนั้นนิติบุคคลเมื่อได้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ต้องนำส่ง แบบ ภ.ง.ด. 54 ให้แก่กรมสรรพากรไม่เกิน 7 วัน นับจากวันสิ้นเดือน
ทั้งหมดนี้คือความหมายของ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54 ที่ผู้ประกอบการทุกคนควรศึกษาให้เกิดความเข้าใจ และดำเนินการอย่างถูกต้อง