ภาษีน่ารู้ สำหรับชาวต่างชาติ

ภาษีชาวต่างชาติ

ปัจจุบันมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยระยะเวลาในการทำงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่แตกต่างกัน สิ่งที่ตามมาเมื่อมีรายได้เกิดขึ้นจากการทำงานในประเทศไทย นั่นก็คือ การเสียภาษีจากรายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจว่า หากชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในเมืองไทยไม่ถึง 180 วันในปีนั้น ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริงการจ่ายภาษีที่เกิดขึ้นในไทย มีหลักในการรับรู้รายได้ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขข้อข้องใจ วันนี้เราจึงสรุปความรู้ในการเสียภาษีของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบง่าย ๆ ให้ทุกคนเข้าใจ

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 2 แหล่ง หลักๆ คือ หลักแหล่งเงินได้ และหลักถิ่นที่อยู่

หลักแหล่งเงินได้

คือ กรณีบุคคลมีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศใด ประเทศนั้นย่อมมีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลนั้น โดยมีเงื่อนไข 4 กรณี ดังนี้

  1. เงินได้จากงานที่ทำในประเทศไทย คือ รายได้ที่ได้จากการทำงานในประเทศไทย

ตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ระยะสัญญา 1 เดือน ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ต้องนำเงินเดือนค่าจ้างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานในไทยมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ยกเว้นรายได้ที่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขยกเว้นภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

  1. เงินได้จากกิจการที่ทำในประเทศไทย คือ รายได้จากชาวต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการในประเทศไทย ต้องมีการยื่นภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติเข้ามาเปิดร้านอาหารในประเทศไทย รายได้จากการเปิดร้านอาหารจะต้องยื่นภาษีบุคคลธรรมดา

  1. เงินได้จากกิจการนายจ้างในไทย รายได้จากผู้ว่าจ้างที่เป็นคนไทย ไม่ว่าผู้รับเงินได้อาจจะทำงานอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ได้ ชาวต่างชาติต้องนำเงินได้มายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย

          แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  1. กรณีทำงานให้บริษัทไทยอย่างเดียว

ต่างชาติที่ทำงานให้บริษัทไทยอย่างเดียว จะมีหน้าที่ในการเสียภาษีในประเทศไทย ไม่ต่างกับพนักงานสัญชาติไทย

  1. กรณีทำงานให้ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศ

กรณีนี้จะต้องพิจารณาก่อนว่าบริษัทต่างประเทศดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบริษัทในประเทศไทยหรือไม่ และเงินได้ดังกล่าวได้นำเข้ามาในไทยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

  • บริษัทต่างประเทศเกี่ยวข้องเป็นบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือของบริษัทไทย หากมีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เช่น เงินเดือน โบนัส จากบริษัทในต่างประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัทไทย จะต้องมีการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะต้องนำเงินได้ที่ได้รับในประเทศไทยและต่างประเทศมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ยกเว้นแต่สามารถพิสูจน์ให้เจ้าพนักงานกรมสรรพากรเชื่อได้ว่าเงินได้จากต่างประเทศนั้นไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานในบริษัทไทย
  • บริษัทต่างประเทศไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทไทย หากบริษัทต่างประเทศนั้นไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัทไทยและไม่ได้เป็นบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือ แต่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินนั้น จึงต้องนำเงินได้จากต่างประเทศดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยด้วย
  1. เงินได้จากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย กรณีนี้เป็นเรื่องของเงินได้ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เช่น ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล

หลักถิ่นที่อยู่

จะนำมาใช้เมื่อผู้มีเงินได้มีแหล่งรายได้จากต่างประเทศ เช่น

  1. ผู้ที่มีเงินได้จากการทำงานในต่างประเทศ
  2. ผู้ที่มีเงินได้จากกิจการในต่างประเทศ
  3. ผู้ที่มีเงินได้จากทรัพย์สินที่ต่างประเทศ

โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • ต้องนำเงินได้เข้ามาในไทย ในปีภาษีนั้น
  • ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในไทยระยะเวลารวมกันถึง 180 วัน ในปีภาษี ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ)

ซึ่งหากไม่เข้าเงื่อนไขดัง ที่กล่าวมา จะถือว่าผู้มีเงินได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย

เมื่อทราบแล้วว่าประเทศไทยเก็บภาษีอย่างไร ต่อมาเราจะมาดูหลักเกณฑ์การเสียภาษีของชาวต่างชาติที่มีเงินได้จากการจ้างงานในประเทศไทย

สำหรับแรงงานต่างชาติที่มีรายได้ 40(1) เช่น เงินเดือน จะยื่น (ภ.ง.ด.91) เมื่อเข้าเงื่อนไข ดังนี้

  • บุคคลที่ไม่มีสามีหรือภรรยาและมีเงินได้ในปีภาษีล่วงมาแล้ว เกิน 50,000 บาท
  • บุคคลที่มีสามีหรือภรรยาและมีเงินได้ในปีภาษีล่วงมาแล้ว รวมกันเกิน 100,000 บาท

บุคคลดังกล่าว จำต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

สำหรับแรงงานต่างชาติที่มีรายได้ 40 (2) หรือรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือน จะต้องยื่น (ภ.ง.ด.90) เมื่อเข้าเงื่อนไข ดังนี้

  • บุคคลที่ไม่มีสามีหรือภรรยาและมีเงินได้ในปีภาษีล่วงมาแล้ว เกิน 30,000 บาท
  • บุคคลที่มีสามีหรือภรรยาและมีเงินได้ในปีภาษีล่วงมาแล้ว ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 60,000 บาท

บุคคลดังกล่าว จำต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

ที่มา : กรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม กฎหมายภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งบางครั้งอาจมีการยกเว้นภาษีแก่ชาวต่างชาติในบางกรณี จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพราะการเข้าใจข้อเท็จจริงผิดไปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ผลของภาระภาษีต่างกันได้ หรือปรึกษา CHIC ACCOUNTING เพื่อตอบทุกปัญหาด้านภาษี