ภาษีโรงคั่วกาแฟ ที่ผู้ประกอบการควรรู้

ภาษีโรงคั่วกาแฟ

ภาษีโรงคั่วกาแฟ กาแฟมีกลิ่นที่หอมและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่ว่าจะอยู่ในขนม เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็สามารถรับรู้ได้ทันที โดยขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการดึงกลิ่นและรสชาติของกาแฟออกมา อยู่ที่การคั่ว ซึ่งจะต้องอาศัยความชำนาญ การรักษาอุณหภูมิ และระยะเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถดึงกลิ่นและรสชาตที่ดีที่สุดออก

ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจโรงคั่วกาแฟในไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในการดื่มกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจโรงคั่วกาแฟได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน  เราจึงได้รวบรวมความรู้เบื่องต้นเกี่ยวกับธุรกิจโรงคั่วกาแฟ ตั้งแต่ข้อมูลในการตั้งโรงงาน วัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ รวมทั้งในเรื่องของ “ภาษีที่มาจากรายได้ในการประกอบกิจการโรงคั่วกาแฟ” มานำเสนอให้ทุกคนทราบกันค่ะ

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดโรงคั่วกาแฟ และจัดจำหน่าย จะต้องมีการเตรียมพร้อมในเรื่องเครื่องมือ ดังต่อไปนี้

  1. เครื่องคั่วกาแฟ

การเลือกเครื่องคั่วกาแฟหนึ่งเครื่อง ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาหลายส่วน ทั้งการเลือกผู้ผลิต ซึ่งมีทั้งจากอเมริกาหรือจีน ขนาดของหม้อคั่ว ทุนทรัพย์ สไตล์การคั่ว รวมถึงค่าบำรุงรักษา ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ดังนั้นผู้ประกอบการควรรู้รูปแบบ สไตล์และขนาดของโรงคั่วกาแฟก่อนทำการเลือกซื้อเครื่องคั่วกาแฟ

  1. ตาชั่ง

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟต้องใส่ใจ คือ ตาชั่ง โดยสิ่งแรกที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อ คือ ระดับอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ ตัวอย่างเช่น หากโรงคั่วกาแฟของผู้ประกอบการมีขนาดอุตสาหกรรมที่ใหญ่ ก็ควรเลือกตาชั่งที่สามารถรับน้ำหนักได้ในปริมาณมาก ในขณะเดียวกันหากเปิดเป็นร้านกาแฟที่มีโรงคั่วกาแฟขนาดเล็ก ขนาดตาชั่งก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับขนาดกาแฟฃที่จะคั่ว หรือกาแฟคั่วที่จะบรรจุขาย

  1. อุปกรณ์สำหรับใช้ควบคุมและทดสอบคุณภาพ

รสชาติของกาแฟที่ได้จากการชงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆที่ใช้ในการชง เช่น ระดับการคั่ว อุณหภูมิน้ำ ขนาดบด และเวลาที่ใช้ในการชง ทำให้ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่ารสชาติของกาแฟที่ได้นั้น เป็นผลมาจากการชง เมล็ดกาแฟ หรือมาจากการคั่ว ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบคุณภาพ โดยใช้แก้วและช้อนกาแฟสำหรับคัปปิ้ง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งการทดสอบคุณภาพของเมล็ดกาแฟและคุณภาพของการคั่ว

  1. อุปกรณ์สำหรับบำรุงรักษาเครื่องจักร

การบำรุงรักษาเครื่องจักรจะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีเครื่องมือที่ครอบคลุมสำหรับการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดเครื่องคั่วกาแฟ  เพื่อรักษาเครื่องคั่วกาแฟและพื้นที่โรงคั่วให้เป็นระเบียบ ถูกสุขลักษณะ

  1. ที่ตักกาแฟ

กระบวยตักกาแฟ (scoop bean) อาจดูเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ โดยที่ตักกาแฟที่ออกแบบมาอย่างดีนั้นทำให้งานเกี่ยวกับการถ่ายเทกาแฟ หรือบรรจุกาแฟง่ายขึ้น

  1. เครื่องบดกาแฟ

ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการการขายกาแฟชนิดบด  การลงทุนในเครื่องบดกาแฟที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หากขายเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพและราคาสูง ควรเลือกเครื่องบดคุณภาพสูงเช่นกัน เพื่อให้ประสิทธิภาพของการบทที่สม่ำเสมอ เพิ่มรสสัมผัสที่ดี

 

นอกจากการเตรียมตัวในด้านอุปกรณ์แล้ว ผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดธุรกิจโรงคั่วกาแฟจะต้องดำเนินการดังนี้

การขออนุญาตโรงคั่วการแฟ จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

  • โรงงานจำพวกที่ 1 คือ โรงคั่วกาแฟที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า และมีคนงานไม่เกิน 20 คน สามารถดำเนินกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ
  • โรงงานจำพวกที่ 2ได้แก่ โรงคั่วกาแฟที่มีเครื่องจักรมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 20 คนแต่ไม่เกิน 50 คน ไม่ต้องขอใบอนุญาต ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนประกอบกิจการ รวมถึงต้องต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีทุกปี ในวันครบรอบวันเริ่มประกอบการ
  • โรงงานจำพวกที่ 3ได้แก่ โรงคั่วกาแฟที่มีเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ โรงงานจำพวกนี้จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้

 การจดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

หากผู้ประกอบกิจการมีการขายสินค้าไม่ว่าจะขายอย่างเดียว หรือหลายอย่าง เป็นเงินตั้งแต่ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือ มีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ควรจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและสามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบในการยื่นขอกู้ขยายกิจการ ซื้อบ้าน หรือซื้อรถ

ผู้ประกอบการจะต้องขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี กับกรมสรรพากร

ผู้ประกอบการทั้งประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะต้อง ‘ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร’ กับกรมสรรพากร เพื่อใช้สำหรับยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโณงคั่วกาแฟ เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม การออกใบ กำ กับภาษี และ การจัดทำรายงานภาษี เป็นต้น

 ยื่นขอจดทะเบียนสรรพสามิตร

ผู้ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์กาแฟจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนสรรพสามิต ภายใน 30 วันก่อนเริ่มผลิตสินค้า และยื่นแบบรายการภาษีเพื่อชำระภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่กาแฟของคุณมีส่วนผสมตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนด คุณสามารถยื่นคำขอยกเว้นภาษีสรรพสามิตนั้นได้

ยื่นขอการรับรองจาก อ.ย กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟที่มีการบรรจุผลิตภัณฑ์จะต้องยื่นขอการรับรองกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากผลิตภัณฑ์กาแฟ แทบทั้งหมด คือ ‘อาหาร’ ที่มีการบริโภคผ่านเข้าสู่ร่างกาย

ภาษีโรงคั่วกาแฟ ที่ควรรู้

เมื่อมีรายได้จากการจำหน่ายการผลิตกาแฟออกจำหน่าย ทั้งกาแฟสด คั่ว หรือกาแฟสำเร็จรูปก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือ ยื่นแบบแสดง รายการภาษีพร้อมเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงคั่วกาแฟ ดังนี้

  1. ภาษีเงินได้

เมื่อมีรายได้การขายผลิตภัณฑ์กาแฟทั้งขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ผู้ประกอบการก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บกับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ โดยสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบคือ
  1. หักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ การหักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงของกิจการ โดยจะต้องสามารถแสดงหลักฐานพิสูจน์ค่าใช้จ่ายได้
  2. หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา

ซึ่งผู้ประกอบการโณงคั่วกาแฟที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องทำการยื่นภาษี 2 ครั้ง คือ

  • ครั้งที่1 ภ.ง.ด.94 (ภาษีกลางปี) ยื่นภายในเดือนกันยายน โดยสามารถยื่นด้วยตัวเองสำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือยื่นออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์สรรพากร
  • ครั้งที่ 2 ภ.ง.ด.90 ยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเจ้าของธุรกิจโรงคั่วกาแฟที่ได้มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท เป็นห้างหุ้นส่วน ห้างร่วมค้า หรือเป็นคณะบุคคล ต้องมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจะใช้รอบระยะเวลาบัญชีในการคำนวนและกำหนดเวลาในการยื่นภาษีซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้ โดยยอดภาษีจะคำนวณจากกำไรสุทธิคูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนด โดยทำการยื่นภาษี 2 ครั้ง คือ
  • ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับ แต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
  • ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับ ตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีโดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบเวลาบัญชี
  1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

คือ การหักภาษีไว้ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงิน พอมีการจ่ายเงินเกิดขึ้นแล้ว ฝั่งคนที่รับเงินถือว่ามีรายได้ ซึ่งคนที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดจะต้องส่งภาษีสิ้นปี ตามแบบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีเป็นบุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด. 50 กรณีเป็นนิติบุคคล

  • การหัก ภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับแรงงาน

สำหรับผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟ จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ที่ผู้ประกอบการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการ ทุกครั้ง

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิต ภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปกติจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 สำหรับโณงคั่วกาแฟสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขายส่งและขายปลีกกาแฟคั่ว บรรจุหีบห่อผนึกในลักษณะมั่นคง ทั้งแบบคั่วบด และเป็นเมล็ดกาแฟคั่วที่ไม่บด นั้น

  • กรณีโรงคั่วกาแฟขายผลิตภัณฑ์กาแฟคั่ว ที่มีการปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะได้บรรจุกระป๋องภาชนะหรือหีบห่อมั่นคง เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาท หรือจะเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนหน้ากำหนดเวลาดั่งกล่าว
  • กรณีโรงคั่วขายผลิตภัณฑ์กาแฟคั่ว ที่เกิดจากการนำพืชผลทางการเกษตรที่เป็นเมล็ดมาจัดทำ โดยไม่มีการปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้บรรจุกระป๋องภาชนะหรือหีบห่อมั่นคง เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด เว้นแต่ผู้ประกอบการจะใช้สิทธิเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ได้

หลังจากได้อ่านบทความแล้ว หากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจโณงคั่วกาแฟ ทั้งในเรื่องของการขออนุญาติ การทำบัญชี หรือภาษี สามารถสอบถามเข้ามาได้ที่ไลน์ CHIC ACCOUNTING ได้เลยค่ะ ทางเรายินดีตอบคำถามและตอบข้อสงสัยให้กับผู้ประกอบการทุกท่าน

อ้างอิง : https://www.facebook.com/573386346045679/posts/2020341011350198/